“พระราชินี ผู้ปลูกฝันในใจไทย”

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปทุกหนแห่งด้วยพระวิริยะอุตสาหะ จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีที่แห่งใดบนผืนแผ่นดินไทยที่ทั้งสองพระองค์ไม่เคยเสด็จฯ ไปถึง ทรงเพียรพยายามทุกวิถีทางที่จะรับรู้ถึงความเดือดร้อนและความต้องการของราษฎร เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างสอดคล้องกับสภาพปัญหาแท้จริง ทรงเริ่มตั้งแต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ตลอดจนวางรากฐานการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน ปรัชญาการทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทำตามและยึดแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นหลัก โดยตั้งอยู่บนพื้นฐาน สำคัญ 5 ประการ คือ ...
(1) ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในระดับพื้นฐานของประเทศ อันได้แก่ ชนบท
และเกษตรกร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารของประเทศ
(2) ทรงเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีคนเป็นศูนย์กลาง
(3) ทรงให้ความสำคัญกับโอกาสของราษฎรที่จะได้รับการพัฒนาและมีส่วนร่วมในการพัฒนา
โดยทรงมั่นพระทัยว่าราษฎรนั้นมีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว
เพียงแต่ให้โอกาสพวกเขาได้แสดงออก
(4) ทรงเน้นการพัฒนาด้านจิตใจของคนในชาติ เพื่อปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม
นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และ
(5) ทรงให้ความสำคัญกับการทรงงานพัฒนาเพื่อส่งเสริมงานพัฒนาหลักของรัฐบาล
เป้าหมายสำคัญในการทรงงานของ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือ
ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน
และความสงบร่มเย็นของประเทศชาติ
ดังที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า “กำไรของแผ่นดิน” คำนี้
ได้พระราชทานไว้เมื่อผู้ถวายงานในโครงการฟาร์มตัวอย่างกราบบังคมทูลว่า
ได้จ้างชาวเขามาทำงานในฟาร์มตัวอย่างที่บ้านขุนแตะ จังหวัดเชียงใหม่ เพียง 40 คน ถ้าจ้างคนงานมากๆ อาจจะต้องขาดทุน เพราะผลผลิตยังน้อยอยู่
พระองค์มีพระราชดำรัสว่า
“อย่ามาพูดเรื่องกำไรขาดทุนกับฉันนะ
ฉันต้องการให้คนจนมีงานทำมากๆ ขาดทุนของฉันคือกำไรของแผ่นดิน”
...ดังนั้น “กำไรของแผ่นดิน” คือ
การที่ทำให้คนยากจนในชุมชนนั้นๆมีงานทำ มีรายได้ไปเลี้ยงครอบครัวไม่ต้องไปเป็นโจรขโมย
หรือยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งไม่ตัดไม้ทำลายป่า
ชุมชนนั้นจะมีความสุขความสงบ หากทุกชุมชนเป็นเช่นนี้
ก็จะแผ่วงกว้างเป็นความสุขความสงบของตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศชาติ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ ทรงอุทิศพระองค์
ทรงสละเวลาและพระราชทรัพย์เพื่อบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ
ที่เกิดประโยชน์ครอบคลุมทั้งคน สัตว์ พืช ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมนานาประการ
ทรงมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันในการดำรงชีวิตระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
อย่างยากที่จะหาผู้ใดเทียบได้
พระราชกรณียกิจต่างๆ
ล้วนเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งในการช่วยพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์และสร้างระบบความสมดุลแห่งธรรมชาติให้คืนสู่แผ่นดิน
จากพื้นที่ที่เคยร้อนระอุแห้งแล้งกลับกลายเป็นผืนแผ่นดินเขียวชอุ่ม สดใสด้วยพฤกษานานาพันธุ์
และสีสันของเหล่าสัตว์ป่านานาชนิด
ที่สำคัญคือ
ทรงพยายามปลูกจิตสำนึกในใจคนให้รัก หวงแหน
และผูกพันในทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ให้คงอยู่บนผืนแผ่นดินให้มากที่สุดและนานที่สุด
...เพื่อเป็นการตอบแทนคุณของแผ่นดิน
ด้วยทรงตระหนักว่าน้ำและทรัพยากรธรรมชาติหลาก หลาย
เป็นประดุจขุมทรัพย์อันล้ำค่ายิ่งของประเทศไทยและผืนแผ่นดินไทย
สมควรจะอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลานไทยตลอดไป ดังพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า
“...ชาวไทยทุกคนจะต้องเข้าใจว่า
การอนุรักษ์นี้มิใช่จะไปขัดขวางการพัฒนา แท้ที่จริงแล้วการพัฒนาระยะยาวกลับจะสำเร็จได้
ก็ด้วยการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง เราทั้งหลายคงไม่ลืมตัวอย่างที่พลโลกบางประเทศ
ต้องอดอยากล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่สงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาตินั่นเอง...”
“โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” ถือเป็นแบบอย่างอันดีที่ตอกย้ำถึงพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ โดยได้พระราชทานไว้เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากจนให้มีที่อยู่อาศัยและรู้จักใช้ที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พร้อมพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้สร้าง “ฟาร์มตัวอย่าง” ขึ้นในจังหวัดต่างๆ เพื่อช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้ผู้ตกงาน ชาวบ้านที่ยากจน
หรือผู้ที่เลิกยาเสพติด ได้มีงานทำ
นอกจากนี้
ยังได้พระราชทาน “โครงการธนาคารอาหารชุมชน” เพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน ช่วยให้ราษฎรมีรายได้เสริมที่มั่นคง มีน้ำใจ
รู้จักการให้ รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน
ส่งผลให้อยู่ดีมีสุขอย่างพอเพียง ถือเป็นการน้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ประชาชนเพื่อนำมาใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิตสู่ความสุขที่ยั่งยืน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระราชินี
ผู้ปลูกฝันในใจไทยอย่างแท้จริง.
ข่อมูล:สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ
ข่อมูล:สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ
<<.....................................................................>>